ทำไมธงชาติแคนาดาต้องใช้ใบเมเปิ้ล!!!
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันธงชาติแคนาดา” หรือ “National Flag of Canada Day” เป็นการระลึกถึงวันที่ได้เชิญธงชาติแคนาดาแบบที่เราเห็นในปัจจุบันขึ้นสู่ยอดเสาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2508 โดยแคนาดาเริ่มกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันธงชาติแคนาดาเมื่อปี 2539
ธงชาติแคนาดาในปัจจุบัน เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน อัตราส่วนความกว้าง : ความยาว 1 : 2 ส่วน ภายในผืนธงประกอบด้วยแถบแนวตั้งสีแดง สีขาว และสีแดง โดยแถบสีขาวกว้างเป็น 2 เท่าของแถบสีแดง และสิ่งที่โดดเด่นที่สุดบนผืนธงก็ย่อมหนีไม่พ้นรูปใบเมเปิลสีแดง 1 ใบ ตรงกลางแถบสีขาวนั้น ทำให้ธงชาติแคนาดามีชื่อเล่นว่า “ใบเมเปิล” หรือ “Maple Leaf” ด้วย
แต่… ทำไมต้องเป็นใบเมเปิล?
โดยทั่วไป สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์บนผืนธงชาติ มักจะเป็นสีหลักๆ ไม่กี่สี่ และสีเหล่านี้ก็มักจะมีความหมายที่คล้ายๆ กัน เช่น สีแดง หมายถึงเลือดเนื้อที่บรรพบุรุษต้องสูญเสียไปเพื่อสร้างชาติ หรือหมายถึงความกล้าหาญ สีขาว มักจะหมายถึงสันติภาพ ความสงบ ความบริสุทธิ์ รวมถึงศาสนาดังเช่นธงไตรรงค์ของไทย ถ้าประเทศมุสลิมก็มักจะมีสีเขียวอยู่บนผืนธง ถ้าประเทศแอฟริกามักจะมีสีดำ ส่วนกรีซเลือกใช้สีฟ้าซึ่งหมายแทนถึงทะเลที่กรีซมีความผูกพันมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ และหากนึกถึงรูป หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ก็จะนึกถึงรูปเคียว รูปดาว สำหรับประเทศที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ หรือการต่อสู้ทางชนชั้น บ้างก็ใช้แผนที่รูปร่างของประเทศมาอยู่บนผืนธง มีมงกุฎแสดงให้เห็นว่าปกครองระบบกษัตริย์ หรืออาจจะมีสัตว์ที่น่าเกรงขาม เช่น สิงโต หรือสัตว์จากความเชื่อดั้งเดิม เช่น มังกร อะไรประมาณนั้น
ทำไมแคนาดาเลือกใช้ใบเมเปิล?
old-flagเห็นได้ว่ายังมีสัญลักษณ์ Union Flag ของสหราชอาณาจักรอยู่
ย้อนกลับไปประมาณปี 2503-2504 เริ่มมีแนวความคิดว่า แคนาดาควรจะมีธงชาติใช้แทนธงที่ใช้ในขณะนั้น พอปี 2507 นายกรัฐมนตรี Lester B. Pearson ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อคัดเลือกแบบธงชาติที่คนส่งเข้าร่วมการคัดเลือก สุดท้าย ธงใบเมเปิลก็ได้รับคัดเลือกจากธงแบบต่างๆ มากกว่า 5 พันแบบ
มีข้อมูลด้วยว่า นายกรัฐมนตรี Pearson ให้ความสำคัญกับการออกแบบธงชาติแคนาดา เพราะว่าระหว่างวิกฤตการณ์สุเอซ (The Suez Crisis) ในปี 2499 นาย Pearson ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดา ได้มีบทบาทนำในการผลักดันให้สหประชาชาติหรือ UN ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ หรือ peace-keeping mission เข้าไปควบคุมสถานการณ์ความขัดแยัง โดยแคนาดาเป็นกองกำลังหลัก แต่รัฐบาลอียิปต์ไม่พอใจและต่อต้าน เนื่องจากธงแคนาดาในเวลานั้นยังมีสัญลักษณ์ Union Flag เช่นเดียวกับธงสหราชอาณาจักร ท่าทีของอียิปต์นี้เข้าใจได้ง่ายๆ เพราะวิกฤติการณ์ สุเอซเป็นความขัดแย้งระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส อียิปต์ย่อมไม่พอใจที่กองกำลังรักษาสันติภาพซึ่งควรจะเป็นกลางดันเชิญธงที่มีตรา Union Flag ของอังกฤษซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ซะนี่
นอกจากนี้ นาย Pearson เป็นนักการเมืองโดยฐานเสียงสำคัญของพรรคอยู่ในพื้นที่แคนาดาฝรั่งเศส ซึ่งประชาชนในพื้นที่นี้ ก็รู้สึกต่อต้านธงที่มีตราสหราชอาณาจักรอยู่แล้ว นาย Pearson จึงเห็นความสำคัญของการออกแบบธงชาติแคนาดาที่แตกต่างจากธงสหราชอาณาจักรอย่างชัดเจน ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ได้ประโยชน์ทั้งการเมืองภายใน เพื่อรวมคนแคนาดาทั้งฝั่งอังกฤษและฝั่งฝรั่งเศสให้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ธงผืนใหม่ และประโยชน์ในการระหว่างประเทศ ธงผืนใหม่จะแสดงให้เห็นชัดไปเลยว่า นี่คือ แคนาดา ไม่เกี่ยวกับสหราชอาณาจักรนะจ๊ะ
จากบทบาทและความพยายามในช่วงวิกฤตการณ์สุเอซ ทำให้นาย Pearson ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเชียวนะ และนอกจากนั้น ยังส่งผลให้แคนาดาให้ความสำคัญกับกองกำลังรักษาสันติภาพมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย
พอละ เลยเถิดไปถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว กลับมาที่เรื่องธงใบเมเปิลดีกว่า
ธงใบเมเปิล เป็นการออกแบบของ Dr. George F. G. Stanley ซึ่งเป็นครูสอนอยู่ที่วิทยาลัยทหาร (Royal Military College) ในเมือง Kingston รัฐออนแทริโอ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากธงประจำวิทยาลัยทหารนั่นแล
แล้วทำไมต้องเป็นสีขาว กับสีแดง?
สองสีนี้ ได้รับการประกาศให้เป็นสีทางการของแคนาดาโดยกษัตริย์ King George V ตั้งแต่ปี 2464 โดยสีแดงมาจากสีไม้กางเขนของ Saint George ซึ่งอยู่บนธงของเรืออังกฤษที่มาขึ้นฝั่งทางตะวันออกของแคนาดาตั้งแต่ประมาณปี 2040 นู้น ส่วนสีขาวมาจากตราประจำราชวงศ์ของกษัตริย์ฝรั่งเศส เรียกได้ว่า มีความหมายมีความผูกพันกันมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์
ส่วนใบเมเปิลก็มีความผูกพันกับแคนาดามาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ด้วยเหมือนกัน เพราะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของแคนาดามาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 ตราสัญลักษณ์ของทหารแคนาดาที่ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เป็นรูปใบเมเปิล และหลุมฝังศพของทหารก็ยังประดับด้วยใบเมเปิล ในเครื่องแบบของกองทัพ บ้านเราเรียกว่าติดดาวที่บ่า ของแคนาดาเขาติดใบเมเปิล นอกจากนี้ ทุกวันนี้ เหรียญ 1 เซนต์ ก็ยังใช้รูปใบเมเปิลอยู่ เป็นต้น
ปัจจุบัน นอกจากธงชาติแล้ว ใบเมเปิลยังถูกใช้ในธงทางการระดับอื่นๆ ด้วย อาทิ ธงประจำเมือง ธงหน่วยงาน ธงกองทัพ
ต้นเมเปิลเป็นต้นไม้ประจำชาติของแคนาดา เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ทนทาน ต้นเมเปิลสามารถทนกับสภาพอากาศได้ดี นาย Jacques Viger นายกเทศมนตรีคนแรกของมอนทรีอัลเคยกล่าวไว้ว่า เมเปิลคือราชาแห่งป่า เป็นสัญลักษณ์ของชาวแคนาดา “the king of our forest; … the symbol of the Canadian people”
นอกจากคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน เมเปิลเป็นต้นไม้ที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของแคนาดาได้ด้วย เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ผลัดใบ ใบเมเปิลจะเปลี่ยนสีสวยงามช่วงฤดูใบไม้ร่วง ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว มีการจัดเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อชมใบไม้เปลี่ยนสี นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ประโยชน์จากต้นเมเปิลได้มากมาย ทั้งการทำไซรัป รวมถึงใช้ประโยชน์จากไม้ ทั้งเพื่อก่อสร้าง เพื่อทำเฟอร์นิเจอร์ เพื่อทำเครื่องดนตรี เช่น ไวโอลิน กีตาร์ กลอง ไม้กลอง รวมถึงการใช้ไม้เมเปิลผลิตพินโบว์ลิ่ง รางโบว์ลิ่ง ไม้พูล ไม้เบสบอล ไปจนถึงคันธนูและเขียง เยื่อไม้เมเปิลยังสามารถนำไปผลิตกระดาษได้อีกด้วย
ปัจจุบัน ต้นเมเปิลยังคงเป็นต้นไม้ประจำชาติของแคนาดา มีการผลักดันและส่งเสริมการอนุรักษ์ต้นเมเปิล เช่น องค์กรการกุศล Maple Leaves Forever จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการปลูกต้นเมเปิลสายพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่รัฐออนแทริโอ